“ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นองค์กรที่ข้าพเจ้าตั้งใจจัดตั้งขึ้นเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน และการวิจัย ที่จะสร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมที่มีจิตในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่นก่อนคิดถึงประโยชน์ของตัวเอง พร้อมบริการสังคมด้วยความรู้ความชำนาญ คุณธรรมจริยธรรม จิตอาสา ความมุ่งมั่น และด้วยความเป็นเลิศในวิชาชีพเพื่อทุกชีวิตในสังคม อีกทั้งเป็นสถาบันที่ให้บริการทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานสากลแก่ประชาชนอย่างไม่หวังผลกำไร โดยเฉพาะผู้ที่ยากไร้และด้อยโอกาสเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ”
พระดำรัส ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทาน ณ ตำหนักทิพย์พิมาน 18 กรกฎาคม 2560
ที่มาของโครงการ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ก่อกำเนิดจากพระปณิธาน ใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่จะยกระดับการรักษาพยาบาลให้ได้มาตรฐานสากล ช่วยเหลือประชาชนไทยที่ต้องทนทุกข์จากโรคมะเร็ง ทรงมีพระดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง” ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลจุฬาภรณ์” และเสด็จเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เพื่อเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านการรักษาโรคมะเร็งขนาด 100 เตียง ด้วยพระปรีชาสามารถ พระวิสัยทัศน์กว้างไกล และพระวิริยะอุตสาหะ ก่อกำเนิดเป็นพระปณิธานแน่วแน่ที่มุ่งมั่นสร้างบริการทางการแพทย์ให้ได้มาตรฐานระดับสากลให้คนไทยทุกชนชั้นมีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม โดยต่อมาในปี 2558 ทรงปรับแนวนโยบายของโรงพยาบาล โดยให้ขยายขอบข่ายการให้บริการเป็นโรงพยาบาลตรวจรักษาโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทางด้านอื่นๆ ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลว่าควรมีการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ จึงพัฒนาต่อยอดโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้เป็น วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ โดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยฯ พร้อมด้วยวิสัยทัศน์ที่จะเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่ให้บริการเป็นเลิศเพื่อทุกชีวิตอย่างเสมอภาค ซึ่ง ณ ปัจจุบัน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ประกอบด้วยอาคารศูนย์การแพทย์ทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ “ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์” “ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ” และ “ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์” ที่ทรงมีพระดำริให้จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการสืบสานตามรอยพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน ภายใต้องค์กรที่ทรงพระราชทานนามว่า “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์”
ด้วยพระกรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยถึงสุขภาพของประชาชนชาวไทยในทุกถิ่นฐาน การสร้างบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้และด้อยโอกาสให้ได้มีโอกาสเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม ถือเป็นพันธกิจที่สำคัญยิ่งของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ในการสืบสานการดำเนินงานตามพระปณิธานเพื่อให้บริการตรวจรักษาประชาชน รวมทั้งการดูแลรักษาคนไข้ในพระอนุเคราะห์ และคนไข้ที่ประสบปัญหาด้านการเงินในการรักษาพยาบาลเพื่อช่วยเหลือให้เค้ามีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน พร้อมร่วมส่งเสริมดูแลสุขภาพประชาชนที่มุ่งเน้นตามนโยบายสาธารณสุขที่เป็นประโยชน์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ภายใต้หลักการทำงาน “ทุกชีวิตของคนไข้คือหัวใจของเรา” ที่บุคลากรโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ทุกคนยึดถือปฏิบัติ และด้วยความร่วมแรงร่วมใจของบุคลากรและหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อมุ่งมั่นสานต่อพระปณิธานได้ก่อกำเนิดการพัฒนางานโครงการต่างๆ อันเนื่องมาจากพระดำริทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าวิจัย การศึกษา และการบริการทางสุขภาพ โดยได้พัฒนาขยายการให้บริการสู่สถาบันการแพทย์แบบครบวงจรที่สามารถให้บริการตรวจรักษาครอบคลุมทุกโรค พัฒนาศูนย์ความเลิศด้านการตรวจรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้านต่างๆ เพื่อพร้อมเป็นที่พึ่งพิงให้กับผู้ป่วย และแก้ปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนคนไทยทุกคนในทุกถิ่นฐานมีสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน ซึ่งถือเป็นพันธกิจสำคัญที่โรงพยาบาลยึดถือตลอดระยะเวลา 10 ปี
จาก “น้ำพระทัย” อันยิ่งใหญ่ สานต่อเป็นศรัทธาแห่ง “ความร่วมแรงร่วมใจ” ก่อกำเนิดการพัฒนางานโครงการต่างๆ อันเนื่องมาจากพระดำริทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าวิจัย การศึกษา และการบริการทางสุขภาพตามวิสัยทัศน์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนคนไทยทุกคนในทุกถิ่นฐานมีสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน ในโอกาสครบรอบ 10 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงได้จัดโครงการ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เดิน-วิ่ง การกุศล ครั้งที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ “เจ้าฟ้านักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ของพสกนิกรชาวไทยที่ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการ และทรงร่วมพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ พร้อมทั้งร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 10 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยมีธีมแห่งการเฉลิมฉลองด้วยสีสันสร้างสุข สานต่อพระปณิธานให้คนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกถิ่นฐาน One to Ten #HealthinAction กับ 10 สีสันช่วยกันลงมือร่วมกันสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยภายใต้แนวคิด วิ่งหยุดโรค 10 จังหวัดทั่วไทย #เพื่อโอกาสทางการรักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ โดยจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2562 นี้ พร้อมกัน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ หนองคาย ชลบุรี เพชรบุรี สุราษฏร์ธานี และตรัง ให้การวิ่งครั้งนี้มีความหมาย เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับคุณและเพื่อโอกาสทางการรักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เดิน-วิ่งการกุศลครั้งนี้จะร่วมระดมทุนให้กับโครงการต่างๆที่เป็นไปเพื่อพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนใน 10 จังหวัดทั่วประเทศและโครงการนี้ยังเป็นการส่งเสริมการออกกำลังกายให้กับประชาชนคนไทยสู่การเสริมสร้างการมีสุขภาพที่ดียั่งยืน
สถานที่จัดงานและเส้นทางการวิ่งในแต่ละจังหวัด
ผู้เข้าร่วมโครงการ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เดิน-วิ่ง การกุศล ครั้งที่ 3 สามารถเลือกเส้นทางการเข้าร่วมกิจกรรมได้ทั้งหมด 10 เส้นทาง

1. กรุงเทพมหานคร : ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
2. นครราชสีมา : สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
3. ร้อยเอ็ด : บึงพลาญชัย
4. เชียงใหม่ : อุทยานหลวงราชพฤกษ์
5. เพชรบูรณ์ : จุดชมวิวเขาค้อ
6. หนองคาย : ลานน้ำพุ อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ
7. ชลบุรี : สวนสาธารณะตำหนักน้ำ และถนนเลียบชายทะเล
8. เพชรบุรี : หาดทรายเม็ดแรก โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
9. สุราษฎร์ธานี : สนามกีฬากลางจังหวัด
10. ตรัง : สนามกีฬากลางจังหวัด
ประเภทการวิ่ง
ช่องทางการสมัครและการจำกัดจำนวนนักวิ่งในแต่ละจังหวัด
สมัครออนไลน์ : พร้อมกันทั่วประเทศได้ทาง www.cracharityrun.com ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม จนถึง 31 สิงหาคม 2562 หรือจนกว่าจะเต็มจำนวน
สมัครด้วยตนเอง การชำระเงิน : ระบบการชำระเงินของโครงการใช้ระบบการชำระค่าสมัครจากใบเแจ้งยอดชำระเงิน (Bill Payment) ผ่านทางธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาติ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารกรุงเทพ หรือทาง Application ของธนาคารโดยเลือกเมนู สแกนจ่าย โดยผู้สมัครจะได้รับใบแจ้งยอดชำระเงินพร้อมบาร์โค้ดการชำระค่าสมัคร ภายหลังจากที่กรอกข้อมูลลงทะเบียนสมัครทางหน้าเว็บไซด์เรียบร้อยแล้ว โดยจะต้องชำระเงินค่าสมัครภายใน 3 วัน
รางวัลและของที่ระลึกการแข่งขัน
ถ้วยพระราชทาน
ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
จำนวน 40 รางวัล (จังหวัดละ 4 รางวัล)
สำหรับผู้ชนะเลิศอันดับที่ 1 ชาย ประเภทการวิ่ง ระยะ Half Marathon
สำหรับผู้ชนะเลิศอันดับที่ 1 หญิง ประเภทการวิ่ง ระยะ Half Marathon
สำหรับผู้ชนะเลิศอันดับที่ 1 ชาย ประเภทการวิ่ง ระยะ Mini Marathon
สำหรับผู้ชนะเลิศอันดับที่ 1 หญิง ประเภทการวิ่ง ระยะ Mini Marathon

โล่รางวัลภาพจำลองภาพวาดฝีพระหัตถ์
ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
จำนวน 300 รางวัล (จังหวัดละ 30 รางวัล)
สำหรับผู้ชนะเลิศอันดับที่ 1-3 ชายและหญิง รุ่นอายุไม่เกิน 29 ปี / 30 -39 ปี / 40– 49 ปี / 50– 59 ปี / 60 ปีขึ้นไป
ประเภทการวิ่ง : Mini Marathon

โล่รางวัลภาพจำลองภาพวาดฝีพระหัตถ์
ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
จำนวน 300 รางวัล (จังหวัดละ 30 รางวัล)
สำหรับผู้ชนะเลิศอันดับที่ 1-3 ชายและหญิง รุ่นอายุไม่เกิน 29 ปี / 30 -39 ปี / 40– 49 ปี / 50– 59 ปี / 60 ปีขึ้นไป
ประเภทการวิ่ง : Half Marathon

เข็มกลัดผู้พิชิต
สำหรับผู้วิ่งเข้าเส้นชัยประเภทการวิ่ง ระยะฮาล์ฟมาราธอนและระยะวีไอพีทุกท่าน
เหรียญรางวัลสำหรับผู้วิ่งเข้าเส้นชัยทุกท่าน
กำหนดการ
04.00 น. : ลงทะเบียนนักวิ่ง สื่อมวลชนและช่างภาพ
04.40 น. : นักวิ่งระยะ Half Marathon 21 KM เข้าสู่พื้นที่ปล่อยตัว
05.00 น. : ปล่อยตัวนักวิ่งระยะ Half Marathon 21 KM
05.20 น. : พิธีเปิดการแข่งขันของแต่ละจังหวัด
05.30 น. : อบอุ่นร่างกาย
05.40 น. : ปล่อยตัวนักวิ่งระยะ Mini Marathon 10.5 KM
06.00 น. : ปล่อยตัวนักวิ่งระยะ Fun Run 5/2 KM
08.00 น. : พิธีมอบรางวัลถ้วยพระราชทานและโล่รางวัลภาพพิมพ์ลายฝีพระหัตถ์สำหรับผู้ชนะการแข่งขันแต่ละประเภทตามรุ่นอายุและเพศ
09.00 น. : ตัดตัวนักวิ่งทุกระยะ/ปิดการแข่งขัน